วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กฐิน‏


ติฐิ


         
 ความหมาย
          พิธีทอดกฐินเป็นงานบุญที่มีปีละครั้ง ท่านจึงจัดเป็นกาลทานแปลว่า "ถวายตามกาลสมัย" คำว่า "กฐิน"มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้
          กฐิน ที่เป็นชื่อของกรอบไม้ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่า สะดึง ก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่ง หรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าจีวร  ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ภาษาไทยนิยมเรียกผ้านุ่ง ว่าสบง ผ้าห่มว่าจีวร และผ้าห่มซ้อนว่าสังฆาฏิ การ ทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือทาบผ้าลงไปกับแม่แบบแล้วตัดเย็บย้อม ทำให้เสร็จในวันนั้นด้วยความสามัคคีของสงฆ์เป็นการร่วมใจกันทำกิจที่เกิด ขึ้นและเมื่อทำเสร็จ หรือพ้นกำหนดกาลแล้วแม่แบบหรือกฐินนั้นก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้น ในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่าเดาะฉะนั้น คำว่ากฐินเดาะหรือเดาะกฐินจึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า


          กฐิน ที่เป็นชื่อของผ้า หมาย ถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้
          กฐิน ที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญคือ การถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่จะได้ใช้ผลัด เปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่าทอดกฐินคือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์เรียกได้ว่าเป็นกาลทานคือการถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐินท่านจึงถือโอกาสทำได้ยาก
กฐิน ที่เป็นชื่อของสังฆกรรมคือ กิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วม มือของภิกษุทั้งหลาย ก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่นขยายเวลาทำจีวรได้อีก ๔ เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้าการทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑๐ วันแต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บ ไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาวคือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔
จากความหมายข้างต้นจะเห็นว่า มีความเกี่ยวข้องกัน ๔ ประการเมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐินเสร็จแล้ว และประชุมกันอนุโมทนากฐินคือแสดงความพอใจว่าได้กรานกฐินเสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี คำว่ากรานกฐินคือการลาดผ้าหรือทาบผ้าลงไปกับกรอบไม้แม่แบบเพื่อตัดเย็บ ย้อม ทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง



ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่เราได้ยินกันก่อนจะมีการทำบุญกฐิน คือการจองกฐินหมาย ถึงการแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยวาจาต่อทางวัดว่าจะนำกฐินมา ถวาย เมื่อนั้นแล้วแต่จะตกลงกันแต่จะต้องภายในเขตเวลา ๑ เดือน ตามที่กำหนดในพระวินัย (ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ )
          อีกคำหนึ่งที่จะได้ยินในขณะที่มีพิธีการทอดกฐินคือคำว่า อปโลกน์กฐิน หมาย ถึงการที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมี การกรานกฐินหรือไม่เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่าผ้าที่ทำ สำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใดการปรึกษาหารือการเสนอความเห็นเช่นนี้เรียก ว่า อปโลกน์ (อ่านว่า อะ-ปะ-โหลก) หมายถึง การช่วยกันมองดูว่าจะสมควรอย่างไร เพียงเท่านี้ก็ยังใช้ไม่ได้เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้วต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับว่าเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐินดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น
ใน ปัจจุบัน มีผู้ถวายผ้ามากขึ้นมีผู้สามารถตัดเย็บย้อมผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้แพร่หลาย ขึ้นการใช้ไม้แม่แบบอย่างเก่าจึงเลิกไปเพียงแต่รักษาชื่อและประเพณีไว้โดย ไม่ต้องใช้กรอบไม้แม่แบบเพียงถวายผ้าขาวให้ตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งนำผ้าสำเร็จรูปมาถวายก็เรียกว่าถวายผ้ากฐินเหมือนกันและ เนื่องจากยังมีประเพณีนิยมถวายผ้ากฐินกันแพร่หลายไปทั่วประเทศไทยจึงนับว่า เป็นประเพณีนิยมในการบำเพ็ญกุศลเรื่องกฐินนี้ยังขึ้นหน้าขึ้นตาเป็นสาธารณ ประโยชน์ร่วมไปกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไปในขณะเดียวกัน
          ตำนาน
           ครั้งพุทธกาล มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎกกฐินขันธกะว่าครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมือง ปาฐา ประมาณ ๓๐ รูป ซึ่งถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวดมีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งขณะ นั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้นพอถึงเมืองสาเกตซึ่งอยู่ห่างจากกรุง สาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกต ตามพระวินัยบัญญัติขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลังดังนั้นพออกพรรษาปวารณาแล้วก็ รีบเดินทาง แต่ระยะนั้นมีฝนตกมากหนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตมต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าสมความ ประสงค์ พระพุทธเจ้าจึงมีปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้นเรื่องการจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต และการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจความร้อนรนกระวนกระวายและการเดินทาง ที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ
          พระพุทธเจ้าทรงทราบและเห็นความลำบากของภิกษุ จึงทรงยกเป็นเหตุและมีพระพุทธา-นุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้ว กรานกฐินได้และเมื่อกรานกฐินแล้วจะได้รับอานิสงส์ตามที่กำหนดในพระวินัยถึง ๕ ประการคือ
          ๑. อยู่ปราศจากไตรจีวรได้ จะไปค้างคืนที่ไหน ไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับก็ได้ไม่ต้องอาบัติ
          ๒. จะไปไหนมาไหน ไม่ต้องบอกลาก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ
          ๓. ฉันคณะโภชน์ได้ ไม่ต้องอาบัติ
          ๔. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
          ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอทั้งได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลให้ยาวออกไปอีกจนถึงกลางเดือน ๔


ข้อกำหนดเกี่ยวกับกฐิน
          จำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐินสงฆ์ ผู้จะให้ผ้ากฐินนั้นจะต้องมีจำนวนอย่างน้อย ๕ รูป เพราะจะต้องจัดเป็นผู้รับผ้ากฐิน ๑ รูปเหลืออีก ๔รูปจะได้เข้าเป็นองค์คณะ(สงฆ์) มากกว่า ๕ รูปขึ้นไปใช้ได้ แต่น้อยกว่า ๔ รูปใช้ไม่ได้
          คุณสมบัติของพระสงฆ์ที่มีสิทธิรับกฐินคือ พระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดนั้นครบ ๓ เดือน ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่าจะนำพระสงฆ์จากวัดอื่นมาสมทบ จะใช้ได้หรือไม่คำตอบคือ ได้แต่พระรูปที่มาสมทบจะไม่มีสิทธิในการรับผ้าและไม่มีสิทธิออกเสียงว่าจะ ถวายผ้าให้กับรูปใด (เป็นเพียงแต่มาร่วมให้ครบองค์สงฆ์เท่านั้น) แต่คณะทายกทายิกาอาจถวายของสิ่งอื่นได้
กำหนดกาลที่จะทอดกฐินการทอดกฐินนั้นทำได้ภายในเวลากำหนด คือตั้งแต่วันแรม ๑ คำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ก่อนหรือหลังจากนั้นไม่นับเป็นกฐินกฐินไม่เป็นอันทอดหรือเป็นโมฆะการที่พระในวัดเที่ยวขอโดยตรงหรือ โดยอ้อมด้วยวาจาบ้าง ด้วยหนังสือบ้าง เชิญชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตนการทำเช่นนั้นผิดพระวินัย กฐินไม่เป็นอันกราน นับเป็นโมะ การทอดก็ไม่เป็นทอดพระผู้รับก็ไม่ได้อานิสงส์
          ประเภทของกฐิน
          การทอดกฐินที่ปฏิบัติกันในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แยกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ กฐินหลวงและกฐินราษฎร์
          กฐินหลวง
          เมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามายังสุวรรณภูมิ และประดิษฐานอยู่บนผืนแผ่นดินนี้อย่างสถิตย์สถาพร ประชาชนไทยได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติการทอดกฐินก็ได้ กลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแผ่นดินสยาม ได้ทรงรับเรื่องกฐินนี้ขึ้นเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่งการที่พระเจ้าแผ่นดิน ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินเป็นพระราชพิธีทำให้เรียกกฐินนี้ว่า กฐินหลวง วัดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นวัดราษฎร์หรือวัดหลวงหากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้วจะเรียกว่า กฐินหลวง ทั้งสิ้น
        ในสมัยต่อ ๆ มา เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นประชาชนมีศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้า แผ่นดินได้รับพระมหากรุณาให้ถวายผ้าพระกฐินได้ตามสมควรแก่ฐานะเป็นเหตุให้ แบ่งแยกกฐินหลวงออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้


          กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี
          กฐินดังกล่าวนี้พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วย พระองค์เองเป็นประจำ ณ วัดสำคัญๆ ซึ่งทางราชการกำหนดขึ้นมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างเรียบร้อย ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดต่างๆทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค จำนวน ๑๖วัด คือ


๑. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
๒. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
๓. วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร
๔. วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
๕. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร
๖. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
๗. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
๘. วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร
๙. วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร
๑๐. วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร
๑๑. วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร
๑๒. วัดราชโอรสาราม กรุงเทพมหานคร
๑๓. วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม
๑๔. วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา
๑๕. วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา
๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก



วัดหลวงทั้งหมดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้า พระกฐินด้วยพระองค์เองเพียงปีละ ๘-๙ วัดเท่านั้น นอกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรีหรือผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็นผู้แทนพระองค์ไปถวาย
          กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สำนักพระราชวังออกหมายกำหนดการเป็นประจำทุกปี จึงไม่มีการจองล่วงหน้า
          แนวปฏิบัติ
          การเฝ้าฯรับเสด็จฯงานถวายผ้าพระกฐินหลวงประจำปีที่สำนักพระราชวังออกเป็นหมายกำหนดการและกำหนดการแต่งการเฝ้าฯรับเสด็จฯ
         ผู้ที่เฝ้าฯ รับเสด็จฯตามหมายกำหนดการ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะได้รับรองเชิญให้นั่งพัก ณ ที่ซึ่งจัดไว้นอกพระอุโบสถตามลำดับชั้นยศและตำแหน่ง
          งานเสด็จฯถวายผ้าพระกฐินตามราชประเพณีประจำปีที่สำนักพระราชวังออกเป็นหมาย กำหนดการแต่งเครื่องแบบเต็มยศจะมีกองเกียรติยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พร้อมทั้งแตรวงประจำกองและทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯตั้งแถวรับเสด็จฯ เมื่อใกล้เวลาเสด็จฯ ประมาณ ๕ หรือ ๑๐ นาทีเจ้าหน้าที่ผู้รับรองของสำนักพระราชวังจะได้เชิญข้าราชการผู้มีเกียรติ ที่มาเฝ้าไปยืนเรียงแถวรอรับเสด็จฯตามแนวทางลาดพระบาท (ถ้าสถานที่ไม่พอจะเข้าแถว ก็คงรอเฝ้าฯ ณ ที่ซึ่งจัดไว้นั้น)
ได้เวลาเสด็จฯมีแตรวงกองทหารเกียรติยศบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้เฝ้าฯที่นั่งพักยืนถวายความเคารพ ผู้มาเฝ้าที่เข้าแถวรับเสด็จฯ ถ้าสวมหมวกทำวันทยหัตถ์จนสุดเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีและถวายความเคารพ เมื่อเสด็จฯ ผ่าน เสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะได้เชิญและนำเฉพาะข้าราชการ ผู้ใหญ่เข้าไปเฝ้าฯในพระอุโบสถ เมื่อเข้าไปจะต้องถวายคำนับ แล้วยืนอยู่ ณ เก้าอี้ที่จะนั่งเฝ้าฯตามยศและตำแหน่ง เมื่อทรงปฏิบัติในการถวายพระกฐิน ประทับพระราชอาสน์ ผู้เฝ้าฯถวายคำนับแล้วนั่งได้ เมื่อเสด็จฯ กลับก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกับเมื่อเสด็จมาถึง ราช ประเพณีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินถ้าพระอารามหลวงหรือวัดใดที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ย่อมจัดลูก เสือหรือนักเรียนตั้งแถวรับเสด็จฯถ้ามีแตรวงลูกเสือด้วยให้บรรเลงเพลง สรรเสริญพระบารมีเมื่อเสด็จฯ ถึง และเสด็จฯกลับ
          โรงเรียนที่จัดลูกเสือนักเรียนรับเสด็จฯตามระเบียบจะต้องจัดตั้งโต๊ะ หมู่บูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์แทนพระพุทธรูปมีแจกัน พานดอกไม้ ธูปเทียนพร้อม แต่ไม่ต้องจุดเทียนหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ควรมีธูปเทียนแพ กระทงดอกไม้ใส่พานตั้งไว้เป็นการถวายความเคารพสักการะในการรับเสด็จฯ
          ผู้อำนวยการ/อาจารย์ใหญ่/ครูใหญ่ ยืนที่ข้างๆ โต๊ะหมู่หน้าแถวนักเรียนและลูกเสือเมื่อเสด็จฯ ถึง ณ ที่นั้นผู้อำนวยการ/อาจารย์ใหญ่หรือครูใหญ่ก้าวออกมาถวายความเคารพ (ถ้าเป็นครูชายสวมหมวก ทำวันทยหัตถ์ ถ้าเป็นครูหญิงถวายความเคารพด้วยการถอนสายบัว) แล้วกราบบังคมทูลรายงานจำนวนอาจารย์ ครูนักเรียนจบแล้วถอยออกไปถวายคำนับก่อนที่จะกลับไปยืนเฝ้าฯ ณ ที่เดิม



กฐินต้น
          กฐินดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวง และมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการหรืออย่างเป็นพระราชพิธีแต่เป็นการบำเพ็ญพระ ราชกุศลส่วนพระองค์อีกด้วย พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) ได้เล่าประวัติเรื่องการเกิดขึ้นของกฐินต้นนี้ไว้ว่า
          "กฐินส่วนพระองค์นี้ ในสมัยก่อนรัชกาลที่ ๕ จะเรียกว่าอย่างไรนั้นยังไม่พบหลักฐาน มาเรียกกันว่ากฐินต้นใน รัชกาลที่ ๕ ภายหลังที่ได้มีการเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ การเสด็จประพาสครั้งนั้นโปรดให้จัดให้ง่ายกว่าการเสด็จประพาสเพื่อสำราญพระ ราชอิริยาบถอย่างสามัญคือโปรดไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับ แรม ณ ที่ใด ๆ พอพระราชหฤทัยจะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่นบางคราวก็ทรงเรือเล็กหรือเสด็จ รถไฟไปโดยมิให้ใครรู้การเสด็จประพาสครั้งนั้นเรียกว่าเสด็จประพาสต้น
           เหตุที่เรียกว่าประพาสต้นก็เพราะเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๑๔๔๗ เสด็จทรงเรือมาด ๔ แจวประพาสในแม่น้ำอ้อม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อเรือมาด ๕ แจวเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งลำสำหรับแจวตามเรือพระที่นั่งเวลามีพระราชประสงค์ที่จะ เสด็จพระราชดำเนินโดยมิให้ใครรู้จักพระองค์เมื่อซื้อเรือมาดได้ดังพระราช ประสงค์แล้วพระราชทานชื่อเรือลำนั้นว่าเรือต้นในวันนั้นกว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงที่ประทับแรมที่เมืองราชบุรีเกือบ ๓ ทุ่มเพราะน้ำเชี่ยว ผู้คนในขบวนเสด็จเหนื่อยหอบตามกัน
          ประพาสต้นจึงเป็นมูลเหตุให้เรียกการเสด็จประพาสอย่างในวันนี้ว่าประพาสต้นและยังเป็นมูลเหตุให้เรียกการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ว่าพระกฐินต้นเรียกแบบเรือนไทยที่ทรงสร้างสำหรับประทับอย่างชาวบ้านว่าเรือนต้นกันต่อมา
พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงดำเนินตามรอยพระยุคลบาทพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราช กุศลถวายผ้ากฐินต้นเป็นประจำทุกปีการจะเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินต้นที่วัดใดมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
          ๑. เป็นวัดที่ยังไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินมาก่อน
          ๒. ประชาชนมีความเลื่อมใสในวัดนั้นมาก
          ๓. ประชาชนในท้องถิ่นนั้นไม่ค่อยมีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิดด้วย
          แนวปฏิบัติ
          ในกรณีที่เสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์เรียกกันว่าพระกฐินต้นส่วน มากจะเป็นวัดในต่างจังหวัดสำนักพระราชวังจะออกเป็นหมายรับสั่ง ส่วนมากจะแต่งเครื่องแบบปกติขาวเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เฝ้าฯ เจ้าหน้าที่นอกนั้นหรือข้าราชการมนท้องถิ่นแต่งกายเครื่องแบบปกติกากีคอตั้ง แบบข้าราชการ หรือกากีคอพับผูกผ้าผูกคอ การเฝ้าฯ รับเสด็จเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะรับรองข้าราชการและผู้มีเกียรติรอเฝ้าฯ ณ ที่ซึ่งจัดไว้นอกพระอุโบสถ
          การเสด็จฯถวายผ้าพระกฐินในต่างจังหวัดนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้อง จัดข้าราชการเข้าแถวรับเสด็จฯ ณ ที่ซึ่งรถยนต์พระที่นั่งเทียบ เมื่อเสด็จฯ ลงจากรถยนต์พระที่นั่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเข้าไปเฝ้าฯ ถวายคำนับ (ถ้าสวมหมวกทำวันทยหัตถ์) แล้วกราบบังคมทูลรายงานตนเอง และเบิกข้าราชการผู้ใหญ่ที่เฝ้าฯ เช่น
          ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม  ข้าพระพุทธเจ้า ............... ผู้ว่าราชการจังหวัด............ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเบิกผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท (ในกรณีที่ภริยาเฝ้าฯ อยู่ด้วย) นาง.............. ภริยาข้าพระพุทธเจ้า (จะทูลเกล้าถวายดอกไม้ด้วยก็ได้) แล้วต่อไปควรจะกราบบังคมทูลเฉพาะ ข้าราชการผู้ใหญ่ระดับสูง เช่นรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัด นายอำเภอของท้องที่ที่เสด็จฯเท่านั้น

          กฐินพระราชทาน
          เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้กราบบังคมทูลขอพระราช ทานเพื่อไปถวายยังวัดหลวงนอกจาก วัดสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ว่า จะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง ( ๑๖ วัดดังที่กล่าวมาแล้ว ) เหตุที่เกิดกฐินพระราชทานเพราะว่าปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมากจึงเปิดโอกาสให้ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคลากรที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้และ ผู้ที่ได้รับพระราชทานจะเพิ่มไทยธรรมเป็นส่วนตัวโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยตาม กำลังศรัทธาก็ได้     ปัจจุบันกระทรวง ทบวง กรมคณะบุคคลหรือบุคคลใดมีความประสงค์จะรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย ณวัดหลวงใดก็ติดต่อไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการตามระเบียบซึ่งเท่ากับเป็นการจองกฐินไว้ก่อนนั่นเอง






แนวปฏิบัติ
          ขั้นตอนของกฐินพระราชทานมีดังนี้
          ๑. เมื่อได้รับผ้าพระกฐินพระราชทานจากกรมการศาสนาแล้ว ควรถวายหลังวันแรม ๖ ค่ำเดือน ๑๑ หรือเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินวันแรกแล้ว
          ๒. ให้ ติดต่อกับวัดโดยตรง เพื่อแจ้งวัน เวลาและขอให้เจ้าอาวาสสั่งไวยาวัจกรเตรียมสถานที่และสิ่งจำเป็นที่มีบูชาพระ รัตนตรัยมีเครื่องบูชาพร้อมอาสนสงฆ์สำหรับพระสงฆ์อนุโมทนาพระกฐิน โต๊ะขนาดกว้างพอสมควรสำหรับวางพานแว่นฟ้าผ้าไตรพระกฐินและพานเทียนพระ ปาติโมกข์โต๊ะวางเครื่องบริขารพระกฐินและเครื่องไทยธรรมโต๊ะเก้าอี้สำหรับ ผู้เป็นประธานและผู้ไปร่วมพิธีตามสมควร
          ๓. เมื่อถึงวันกำหนด ก่อนผู้เป็นประธานจะไปถึงหรือก่อนเริ่มพิธีให้เจ้าหน้าที่เชิญเครื่องพระ กฐินจัดไว้บนโต๊ะ วางเทียนปาติโมกข์ไว้บนพานและให้มีเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบหรือแต่งสากล นิยมคอยส่งให้ผู้เป็นประธานที่เชิงบันไดหรือประตูเข้าสถานที่ประกอบพิธี
          ๔. ประธานรับผ้าพระกฐินจากเจ้าหน้าที่ที่เชิงบันไดพระอุโบสถอุ้มประคองยืนตรง ถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระ บารมีแล้วจึงเข้าสู่พระอุโบสถตรงไปวางไว้ที่พานแว่นฟ้า ซึ่งตั้งอยู่หน้าอาสนสงฆ์ (ถ้ามีปี่พาทย์หรือเครื่องดนตรีให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีขณะผู้เป็น ประธานรับผ้าไตรจากเจ้าหน้าที่หรือรับที่โต๊ะหมู่ในกรณีที่จัดไว้ต่อจากนั้น จึงบรรเลงเพลงช้า) ขณะประธานเข้าสู่สถานที่ประกอบพิธีจนถึงเวลาจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้ว จึงส่งเทียนชนวนคืน ให้หยุดบรรเลงทันทีแม้จะยังไม่จบเพลงก็ตามและควรมีเจ้าหน้าที่คอยให้สัญญาณ เวลาให้เริ่มเพลงหรือให้หยุดบรรเลง
          ๑. เมื่อวางผ้าพระกฐินแล้ว จุดธูปเทียนเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบ ๓ หน
          ๒. เมื่อกราบพระรัตนตรัยแล้วไปที่พานแว่นฟ้าหยิบผ้าห่มพระประธานส่งให้เจ้า หน้าที่นำไปมอบแก่ไวยาวัจกรแล้วยกผ้าพระกฐินขึ้นประคอง พนมมือหันไปทางพระประธานว่า นโม ๓ จบต่อจากนั้นหันหน้าไปทางพระสงฆ์ว่าด้วยคำถวายพระกฐินดังนี้
          " ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐกอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้า*น้อมนำ มาถวายแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลด้วยไตรมาสในอาวาสวิหารนี้ขอพระสงฆ์จงรับผ้า พระกฐินทานนี้กระทำกฐินัตถารกิจตามพระบรมพุทธานุญาตนั้นเทอญ "
( ถ้าเป็นกระทรวง ทบวง กรม องค์การ สมาคม บริษัท ห้างร้าน ให้เปลี่ยนคำว่าข้าพเจ้าเป็นชื่อหน่วยงานนั้นๆ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล่าฯ พระราชทาน)
          กล่าวถวายพระกฐินทานจบแล้วประเคน พร้อมด้วยเทียนพระปาติโมกข์เสร็จแล้วเข้านั่ง ณ ที่ซึ่งจัดไว้ในระหว่างที่ผู้เป็นประธานเข้าสู่สถานที่ประกอบพิธีผู้อยู่ใน พิธีทั้งหมด ยืนแสดงความเคารพจนกว่าประธานจะนั่งลง จึงนั่งลงพร้อมกัน
          ๑. พระสงฆ์ทำพิธีกรรม
          ๒. เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีกรรมเสร็จออกไปครองผ้า (ปี่พาทย์บรรเลงเพลงสาธุการ ถ้ามี) ครองผ้าเสร็จกลับเข้านั่งยังอาสนสงฆ์ (ปี่พาทย์หยุดบรรเลง) ผู้เป็นประธานและผู้ไปร่วมพิธีถวายเครื่องพระกฐินแก่องค์ปกครองเริ่มตั้งแต่ บาตรเป็นต้นไปจนถึงเครื่องมือก่อสร้างถ้าจัดเครื่องไทยธรรมถวายเพิ่มเติมควร ถวายภายหลังเครื่องพระกฐินหลวง
          ๓. ถ้ามีผู้บริจาคร่วมโดยเสด็จพระราชกุศล ควรประกาศให้ที่ประชุมทราบ
          ๔. พอพระสงฆ์อนุโมทนา ผู้เป็นประธานกรวดน้ำ แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรกจบประธานกราบพระรัตนตรัยเป็นอันเสร็จพิธี (ปี่พาทย์บรรเลงเพลงกราวรำ ถ้ามี)
          ๕. กรมการศาสนาเป็นผู้จัดสรรและดำเนินการขอพระราชทานจึงขอให้รายงานถวายผ้าพระ กฐินพระราชทานและยอดเงินโดยเสด็จพระราชกุศลไปยังกรมศาสนาหลังจากการถวายผ้า พระกฐินเสร็จแล้ว เพื่อจะได้รวบรวมดำเนินการกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานถวายพระราชกุศล โดยพร้อมเพรียงกัน
          กฐินราษฎร์
          กฐินราษฎร์เป็น กฐินที่ประชาชนหรือราษฎรที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามีกำลังศรัทธานำผ้า กฐินของตนเองไปทอดถวาย ณ วัดต่าง ๆ (เว้นไว้แต่วัดหลวงที่กล่าวมาแล้วในกฐินหลวง)การทอดกฐินของราษฎรตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบันมีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามลักษณะวิธีการทอดถึง ๔ รูปแบบคือ



          กฐิน หรือ มหากฐิน
          เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่ง ซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะ กล่าวคือท่านผู้ใดมีศรัทธาจะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็ให้ทำใบปวารณาจองกฐินติดใบบอกไว้ ณเขตวัดนั้นๆ เมื่อถึงเวลากำหนดก็นำผ้ากฐิน บางครั้งเรียกว่าผ้าที่เป็นองค์กฐินซึ่ง จะเป็นผืนเดียวก็ได้ หลายผืนก็ได้เป็นผ้าขาวซึ่งยังมิได้ตัด ก็ตัดออกเป็นชิ้นๆพอที่จะประกอบเข้าเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ทำเสร็จแล้ว ยังมิได้ย้อมหรือย้อมแล้วก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งจัดเป็นองค์กฐินนำไปทอด ณ วัดที่ได้จองไว้นั้น
          นอกจากองค์กฐินแล้วเจ้าภาพบางรายอาจศรัทธาถวายของอื่นๆ ไปพร้อมกับองค์กฐินเรียกว่าบริวารกฐินตามที่นิยมกันประกอบด้วยปัจจัย ๔ คือ
          ๑. เครื่องอาศัยของพระภิกษุสามเณร มี ไตร จีวร บริขารอื่นๆ ที่จำเป็น
          ๒. เครื่องใช้ประจำปี มีมุ้ง หมอน กลด เตียง ตั่ง โต๊ะ เก้าอี้ โอ่งน้ำ กระถางกระทะ กระโถน เตา ภาชนะสำหรับใส่อาหารคาวหวาน
          ๓. เครื่องซ่อมเสนาสนะ มี มีด ขวาน สิ่ว เลื่อย ไม้กวาด จอบ เสียม
          ๔. เครื่องคิลานเภสัช มียารักษาโรค ยาสีฟัน แปรงสีฟัน อุปกรณ์ซักล้าง เป็นต้น
หรือ จะมีอย่างอื่นนอกจากที่กลาวมานี้ก็ได้ ขอให้เป็นของที่สมควรแก่พระภิกษุสามเณร จะใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้นหากจะมีของที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายแก่คนที่อยู่ใน วัดหรือคนที่มาร่วมงานกฐินด้วยก็ได้สุดแต่กำลังศรัทธาและอัธยาศัยไมตรีของ เจ้าภาพ
          นอกจากนั้นยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพผู้ทอดกฐินจะต้องมี ผ้าห่มพระประธานอีกหนึ่งผืนเทียนสำหรับจุดในเวลาที่พระภิกษุสวดปาติโมกข์ ที่เรียกสั้นๆ ว่าเทียนปาติโมกข์จำนวน ๒๔ เล่ม และมีธงผ้าขาวเขียนรูปจระเข้หรือสัตว์น้ำอย่างอื่น เช่น ปลา นางเงือก สำหรับปักหน้าวัดที่อยู่ตามริมน้ำเมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว(ถ้าเป็นวัดที่อยู่ ไกลแม่น้ำให้มีธงผ้าขาวเขียนรูปตะขาบปักไว้หน้าวัดแทนรูปสัตว์น้ำ)การปักธง นี้เป็นเครื่องหมายให้ทราบว่าวัดนั้นๆ ได้รับกฐินแล้วและอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้
          ธงจระเข้ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐิน แล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐานและข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี ๒ มติ คือ
          ๑. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่นการยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณวัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้นก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐินในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐินทั้งที่บริเวณวัดและภายหลัย คงหวั่นจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้นจึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
          ๒. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่งมีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึง อุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วยแต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่าเหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศลวานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิดอุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูป จระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้
          นอกจากนี้แล้วยังมีประเพณีนิยมอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับเวลาของการทอดกฐินถ้า เป็นเวลาเช้าจะมีการทำบุญถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุ สามเณร ในวัดด้วย
          กฐินที่ราษฎรเป็นเจ้าภาพนำองค์กฐินและบริวารกฐินไปทอดยังวัดต่างๆ นี้เรียกว่ากฐินหรือมหากฐินเหตุที่เรียกว่ามหากฐินอาจเป็นเพราะจะให้เห็นความแตกต่างจากกฐินอีกชนิดหนึ่งคือจุลกฐินก็ได้

          จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น
          เป็นกฐินที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนหมู่มาก ต้องเร่งรีบทำให้เสร็จ เลยเรียกว่ากฐินแล่น(ความ หมายคือเร่งรีบ ฟ้าว ต้องแล่น (วิ่ง) จึงจะเสร็จทันกาล)เจ้าภาพผู้ที่จะคิดทำจุลกฐินเพื่อทอดถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งจะต้องมีบารมีมีพวกพ้องคอยช่วยเหลือ เพราะต้องเริ่มจากการนำฝ้ายที่แก่ใช้ได้แล้วแต่ยังอยู่ในฝักมีปริมาณมากพอ ที่จะทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้แล้วทำพิธีสมมติว่าฝ้ายจำนวนนั้นได้มีการ หว่านแตกงอก ออกต้น เติบโต ผลิดอก ออกฝักแก่สุกแล้วเก็บมาอิ้วเอาเมล็ดออก ดีดเป็นผง ทำเป็นเส้นด้าย เบียออกเป็นไจ กรอออกเป็นเข็ดแล้วฆ่าด้วยน้ำข้าว ตากให้แห้ง ใส่กงปั่นเส้นหลอดใส่กระสวยเครือแล้วทอเป็นแผ่นผ้าตามขนาดที่ต้องการนำไปทอด เป็นผ้ากฐิน เมื่อพระสงฆ์รับผ้านั้นแล้ว มอบแก่พระภิกษุผู้เป็นองค์ครองซึ่งพระภิกษุองค์ครองจะจัดการต่อไปตามพระ วินัย
          หลังจากนั้นผู้ทอดต้องช่วยทำต่อ คือ นำผ้านั้นมาขยำ ทุบ ซัก แล้วไปตากให้แห้งนำมาตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วเย็บย้อม ตากแห้ง พับทับรีดเสร็จเรียบร้อยนำไปถวายพระภิกษุองค์ครองอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ท่าน ทำพินทุอธิษฐาน เสร็จการพินทุอธิษฐานแล้วจะมีการประชุมสงฆ์ แจ้งให้ทราบพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดจะอนุโมทนาเป็นเสร็จพิธีจุลกฐิน
แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ทอดกฐินไม่มีกำลังมากพอจะตัดวิธีการในตอนต้นๆ ออกเสียก็ได้โดยเริ่มตั้งแต่การนำเอาผ้าขาวผืนใหญ่มากะประมาณให้พอที่จะตัด เป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้วนำไปทอดเมื่อพระภิกษุสงฆ์ท่านนำไปดำเนินการตามพระ วินัยแล้ว ก็ช่วยทำต่อจากท่าน คือ ซัก กะตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จ แล้วนำกลับไปถวายพระภิกษุองค์ครองเพื่อพินทุอธิษฐานต่อไปเหมือนวิธีทำที่ กล่าวมาแล้วในการทำจุลกฐินเต็มรูปแบบ
          ส่วนบริวารของจุลกฐิน ผ้าห่มพระประธานและเทียนปาติโมกข์ตลอดจนธงจระเข้ ตะขาบก็คงเป็นเช่นที่กล่าวมาในเรื่องของกฐินหรือมหากฐินนั่นเอง
          กฐินสามัคคี
          เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน จะบริจาคมากน้อยอย่างไรไม่กำหนดเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินการก็ มักจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่มีหนังสือบอกบุญไป ยังผู้อื่นเมื่อได้ปัจจัยมาก็นำมาจัดหาผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้งบริวาร ต่างๆเมื่อมีปัจจัยเหลือก็นำถวายวัดเพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการ บูรณปฏิสังขรณ์ กุฏิโบสถ์ เจดีย์ เป็นต้นกฐินสามัคคีนี้มักจะนำไปทอดยังวัดที่กำลังมีการก่อสร้างหรือ ปฏิสังขรณ์เพื่อเป็นการสมทบทุนให้สิ่งอันพึงประสงค์ของวัดให้สำเร็จเสร็จ สิ้นไปโดยเร็ว
          เรื่องของกฐินสามัคคีเป็นที่นิยมแพร่หลายกันมากเพราะนอกจากจะถือกัน ว่าเป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงวัดตลอดจนเป็นการสร้างความสมานสามัคคีของชุมชนให้มี ความรักมั่นกลมเกลียวอันเนื่องมาจากอานิสงส์ของกฐินสามัคคีนั่นเอง





 


กฐินตกค้าง
          กฐินประเภทนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากฐินตก กฐินโจรศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวถึงเหตุผลที่เกิดกฐินชนิดนี้ตลอดจนชื่อเรียกที่ต่างกันออกไปว่า (จากเรื่องเทศกาลออกพรรษา)
          "...แต่ที่ทำกันเช่นนี้ทำกันอยู่ในท้องถิ่นที่มีวัดตกค้างไม่มีใครทอดก็ได้ จึงมักมีผู้ศรัทธาไปสืบเสาะหาวัดอย่างนี้เพื่อทอดกฐินตามปกติในวันใกล้ๆจะ สิ้นหน้าทอดกฐินหรือในวันสุดท้ายของกาลกฐิน ( คือวันก่อนวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ) การทอดกฐินอย่างนี้เรียกว่ากฐินตกค้างหรือเรียกว่ากฐินตกบางถิ่นก็เรียกกฐินโจรเพราะ กิริยาอาการที่ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวจู่ๆ ก็ไปทอด ไม่บอกกล่าวเล่าสิบล่วงหน้าให้วัดรู้เพื่อเตรียมตัวกันได้พร้อมและเรียบร้อย การทอดกฐินตกถือว่าได้บุญอานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินตามธรรมดาบางคนเตรียมข้าว ของไปทอดกฐินหลายๆ วัด แต่ได้ทอดน้อยวัดเครื่องไทยธรรมที่ตระเตรียมเอาไปทอดยังมีเหลืออยู่ หรือบางวัดทอดไม่ได้(อาจเป็นที่ไม่ครบองค์สงฆ์) ก็เอาเครื่องไทยธรรมเหล่านั้นจัดทำเป็นผ้าป่าเรียกกันว่าผ้าป่าแถมกฐิน
          กฐินประเภทนี้เรื่ององค์กฐิน บริวารกฐิน ยังคงเป็นเช่นเดียวกับกฐินอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วส่วนข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ ไม่มีการจองวัดล่วงหน้าการทอดก็ทอดได้เฉพาะวัดที่ยังไม่มีใครทอด และเจ้าภาพเดียวอาจจะทอดหลายวัดก็ได้ตลอดจนสามารถนำเอาของไทยธรรมที่เหลือทำ เป็นการบุญชนิดหนึ่งที่เรียกว่าผ้าป่าแถมกฐินได้อีก
          การแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้าง ใน กรณีที่วัดใดวัดหนึ่งไม่มีผู้จองกฐิน หรือที่เรียกว่ากฐินตกค้างนั้นถ้าเข้าใจความมุ่งหมายของการทอดกฐินแล้วแก้ ปัญหาได้ง่ายเพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าการทอดกฐินนั้นต้องใช้จ่ายสิ้น เปลืองมากถ้าไม่มีกำลังทรัพย์พอก็ไม่ค่อยกล้าแสดงความจำนงจองกฐิน
          ความจริงการทอดกฐินนั้นมีเพียงผ้าผืนเดียว ซึ่งอาจตัดเย็บย้อมเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่มซ้อนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรืออาจถวายผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งก็ได้นับเป็นการทอดกฐินแล้วที่เราสิ้น เปลืองกันมากนั้นเป็นการไปเพิ่มโน่นเพิ่มนี่ขึ้นมากันตามกำลังศรัทธาเพื่อ ให้มีองค์ประกอบสวยงาม โดยเฉพาะมหรสพคบงันต่างๆที่สร้างความครึกครื้นนั้นไม่ได้มีบัญญัติไว้แต่ อย่างใด ซึ่งไม่ใช่สิ่งจำเป็นใด ๆ เลย
          เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาเรื่องวัดใดวัดหนึ่งไม่มีใครจองกฐินใครก็ได้ที่ มีศรัทธาและทุนไม่มากไปซื้อผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งมาถวายก็เรียกว่าทอดกฐินแล้ว หรือในกรณีที่บางวัดมีประเพณีให้ตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันนั้นก็ซื้อผ้าขาว ผืนเดียวมาถวายก็จัดเป็นการทอดกฐินที่สมบูรณ์ตามพระวินัยเป็นอันแก้ปัญหา เรื่องกฐินตกค้างอย่างง่ายๆ เพียงเท่านี้

          ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกฐิน
          เมื่องานบุญกฐินเป็นงานมหากุศลที่พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธาการปฏิบัติเกี่ยวกับ การจัดงานบุญประเพณีนี้ต้องทำให้ถูกพระธรรมวินัยจึงจะได้อานิสงส์ข้อปฏิบัติ ที่น่าสนใจมีดังนี้
          Description: http://www.watpala1.org/images/stories/thumbnails/remote/http--www.isangate.com-images2-icon_smile_big.gifการจองกฐิน
          การจองกฐินก็ คือ การแจ้งล่วงหน้าให้ทางวัดและประชาชนได้ทราบว่าวัดนั้นๆมีผู้ศรัทธาทอดกฐิน กันเป็นจำนวนมากถ้าไม่จองไว้ก่อนอาจไม่มีโอกาสจึงเกิดเป็นธรรมเนียมขึ้นว่า จะทอดกฐินต้องจองล่วงหน้าเพื่อให้มีโอกาสและเพื่อไม่ให้เกิดการทอดซ้ำวัด หนึ่งวัดปีหนึ่งทอดกฐินได้ครั้งเดียว และในเวลาจำกัดคือหลังจากออกพรรษาแล้วเพียงเดือนเดียวดังได้กล่าวมาแล้ว
          แต่อย่างไรก็ตามกฐินหลวงไม่มีการจองล่วงหน้า เว้นแต่กฐินพระราชทานผู้ประสงค์จะขอรับพระราชทานกฐินไปทอดต้องจองล่วงหน้าโดยแจ้งไปยังกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวมาแล้ว


          ตัวอย่างใบจองกฐิน
ข้าพเจ้าชื่อ............................................................ บ้านเลขที่............. ตำบล ................................................. อำเภอ..................................................... จังหวัด....................................... มีศรัทธาปรารถนาจะทอดกฐินแก่พระสงฆ์วัดนี้มีองค์กฐิน .................... มีบริวารกฐิน ....................... กำหนดวัน............. เดือน ............................................. ปี..................... เวลา ........................
ขอ เชิญท่านทั้งหลายมาร่วมกุศลด้วยกัน หากท่านผู้ใดมีศรัทธามากกว่ากำหนดขอผู้นั้นจงได้โอกาสเพื่อทอดเถิด ข้าพเจ้ายินดีอนุโมทนาร่วมกุศลด้วย


          ถ้า หากว่ามีผู้ศรัทธามากกว่าจะนำกฐินมาทอด ณ วัดเดียวกันก็ต้องทำใบจองดังกล่าวมานี้มาปิดไว้ที่วัดในที่เปิดเผย เช่น ศาลาการเปรียญ เป็นต้นและเป็นธรรมเนียมที่ถือกันว่าการที่มีผู้มาจองทับเช่นนี้ไม่เป็นการ เสียมารยาทแต่อย่างใดแต่ถือเป็นเรื่องสนุกสนานในการทำบุญกุศลอย่างหนึ่ง ในภายหลังไม่นิยมจองทับกันแล้วถ้ามีศรัทธาวัดเดียวกันก็มักจะรวมกันซึ่ง เรียกว่ากฐินสามัคคี
          ในการทอดกฐินสามัคคีนี้ ผู้ทอดอาจเชิญชวน ผู้มีจิตศรัทธาให้มาร่วมกันทำบุญโดยแจกใบบอกบุญหรือเรียกว่าฎีกาก็ได้
          Description: http://www.watpala1.org/images/stories/thumbnails/remote/http--www.isangate.com-images2-icon_smile_big.gifการทอดกฐิน
          เมื่อได้ตระเตรียมพร้อมแล้ว ถึงกำหนดก็นำผ้ากฐินกับบริวารไปยังวัดที่จองไว้การนำไปนั้นจะไปเงียบๆ หรือจะแห่แหนกันไปก็ได้เมื่อไปถึงแล้ว พักอยู่ ณที่ใดที่หนึ่งที่สะดวก เช่น ที่ศาลา ท่าน้ำ ศาลาโรงธรรม โรงอุโบสถหรือที่ใดที่หนึ่งซึ่งทางวัดจัดไว้ เมื่อพระสงฆ์พร้อมแล้วก่อนถวายกฐิน อาราธนาศีลรับศีล เมื่อรับแล้ว ทายกประกาศให้รู้พร้อมกันหัวหน้าผู้ทอดกฐินหันหน้าไปทางพระพุทธรูป ตั้งนโม ๓ จบแล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์กล่าวถวายเป็นภาษาบาลี ภาษาไทย หรือทั้งสองภาษาก็ได้ว่าคนเดียวหรือว่านำแล้วคนทั้งหลายว่าตามพร้อมกันก็ได้ การกล่าวคำถวายจะกล่าวเป็นคำๆ หรือจะกล่าวรวมกันเป็นวรรคๆแล้วแต่ความสะดวกของผู้กล่าวนำและผู้กล่าวตาม คำถวายมีดังนี้
          คำถวายภาษาบาลี แบบที่ ๑ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ หน)
อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ทุติยัมปิอิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ตะติยัมปิ อิมังภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสามข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้แก่พระสงฆ์
คำถวายภาษาบาลี แบบที่ ๒
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ หน)
อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ทุติยัมปิอิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
ตะติยัมปิ อิมังภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
สาธุ โร ภันเต อิมังสะปริวารา กะฐินะทุสสัง ปฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์
แม้คำรบสามข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้แก่พระสงฆ์
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐินทั้งบริวารนี้เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ
คำถวายภาษาบาลี แบบที่ ๓
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ หน)
อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ
สาธุ โนภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง ปะฏิคคันหาตุ
ปะฏิคคเหตะวา จะอิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล


ข้าพเจ้า ทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับ บริวารนี้ ครั้นรับแล้วจงกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ
เมื่อ จบคำถวายแล้ว พระสงฆ์รับสาธุพร้อมกันองค์กฐินพร้อมทั้งบริวารนั้นถ้าปรารถถวายเป็นของสงฆ์ ทั้งหมดก็ไม่ต้องประเคนถ้าปรารถนาจะประเคนก็อย่าประเคนสมภาร หรือองค์ที่รู้ว่าจะต้องครองให้ประเคนองค์อื่น องค์ที่เหมาะสมก็คือองค์รองลงมาเฉพาะองค์กฐินนั้นไม่จำเป็นต้องประเคน ส่วนบริวารนั้นถ้าจำนงถวายแก่ภิกษุสามเณรในวัดนั้นส่วนเฉพาะ ก็ช่วยกันถวายโดยทั่วกันเมื่อประเคนเสร็จแล้วจะกลับเพียงนั้นก็ได้ แต่ถ้ายังไม่กลับจะรอจนพระสงฆ์อปโลกน์และมอบผ้ากฐินเสร็จแล้วก็ได้

          ถ้าผ้ากฐินนั้นต้องทำต่อไปอีกเช่นต้องซัก กะ ตัด เย็บย้อม จะอยู่ช่วยพระก็ได้ จึงมีธรรมเนียมอยู่ว่าประเคนเฉพาะองค์กฐินแก่พระรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้นแล้ว รออยู่เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีเบื้องต้นของท่านเสร็จจึงประเคนบริวารกฐินในภาย หลังพระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ถวายทั้งหมดตั้งใจฟังคำอนุโมทนา และขณะนั้นเจ้าภาพกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
          เพียงเท่านั้นก็เสร็จพิธีถวายกฐินสำหรับทายกผู้มีศรัทธาต่อจากนั้นเป็น หน้าที่ของพระสงฆ์จะได้ดำเนินการในเรื่องกรานกฐินต่อไป


http://www.med.cmu.ac.th/secret/admin/web/custom5_3.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น